top of page

ส่วนที่ ๑ การพัฒนากรอบหลักสูตร

องค์ประกอบที่ ๑ แนวคิด ข้อมูลพื้นฐาน และกระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ

๑.๑ ความเป็นมา แนวคิด หลักการ เหตุผล ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลง และต้นทุนของการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ

โรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์ก่อตั้งขึ้นจากความตั้งใจที่จะเป็นต้นแบบของการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเน้นการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนให้สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี โรงเรียนมุ่งหวังสร้างผู้เรียนที่มี คุณธรรม ภาวะผู้นำ มีความเมตตา และทักษะชีวิตที่สอดคล้องกับความต้องการของโลกอนาคต ภายใต้ปรัชญา "การศึกษาสร้างคนดี มีความรู้ สู่สังคมคุณธรรม"

แนวคิดและหลักการ

โรงเรียนธรรมชาติสิงหนครวิทยานุสรณ์ได้รับแรงบันดาลใจจากความหลากหลายทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในชุมชนรอบข้าง จึงนำแนวคิด "โรงเรียนธรรมชาติ" มาเป็นแกนกลางในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรง (Experiential Learning) การเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติ วิทยาการ และความเข้าใจตนเอง ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ผ่านการสำรวจ การปฏิบัติจริง และการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและชุมชน ด้วยการออกแบบหลักสูตรที่ผสมผสานแนวคิด การเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวม (Holistic Learning) โรงเรียนจึงมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านกาย ใจ สติปัญญา อารมณ์ และจิตวิญญาณ เป้าหมายคือการสร้างบุคคลที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า พร้อมทั้งสามารถเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระดับชุมชนและระดับโลก

เหตุผลและปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลง

๑.    การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในทุกมิติ โรงเรียนจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ การสื่อสาร และการทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโลกอนาคต

๒.    ความหลากหลายทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของพื้นที่
โรงเรียนตั้งอยู่ในบริบทที่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของพื้นที่

๓.    ความคาดหวังของสังคมต่อการศึกษา
ผู้ปกครอง ชุมชน และสังคมต้องการระบบการศึกษาที่ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ทางวิชาการ แต่ยังปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

ต้นทุนของสถานศึกษา

โรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์มีจุดแข็งที่สำคัญคือทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ความร่วมมือจากชุมชนในท้องถิ่น และความมุ่งมั่นของบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณค่า

ด้วยกระบวนการการวิเคราะห์บริบทและความต้องการ เริ่มต้นด้วยการสำรวจปัญหาและความต้องการของผู้เรียน ชุมชน และบริบทของพื้นที่ เพื่อให้การออกแบบหลักสูตรตอบโจทย์ทุกมิติ
หลักสูตรจึงถูกออกแบบให้สะท้อน ๔ เสาหลัก ได้แก่ คุณธรรม ตรรกะ ผู้นำ และจิตธุรกิจ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณสมบัติรอบด้าน จากการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง โรงเรียนเชิญชวนผู้ปกครอง ครู ชุมชน และนักการศึกษา มาร่วมคิดและพัฒนาหลักสูตร เพื่อสร้างแนวทางที่ตอบสนองความต้องการของทุกฝ่าย ตลอดจน การประเมินและปรับปรุง การทดลองในชั้นเรียน พร้อมเก็บข้อมูลและข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับปรุงให้เหมาะสม

ด้วยกรอบแนวคิดและกระบวนการพัฒนาที่ชัดเจน โรงเรียนธรรมชาติ-สิงหนครวิทยานุสรณ์เชื่อมั่นว่าหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพทั้งในด้านความรู้ คุณธรรม และการดำรงชีวิต พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมที่สงบสุขและยั่งยืนในอนาคต

 

๑.๓ บริบทที่เชื่อมโยงกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์

  1. ๓.๑ บริบทโรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์

  ตั้งอยู่ที่ ๒๗๑/๘ หมู่ ๑ ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา บนพื้นที่ ๑๒ ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่แวดล้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนที่หลากหลาย ภูมิประเทศบริเวณนี้มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบชายฝั่ง ใกล้ทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย ซึ่งเอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น

โรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและความเท่าเทียมในพื้นที่ห่างไกล ภายใต้มูลนิธิศาสนาศึกษา โรงเรียนมุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับศาสนา วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในชุมชน พร้อมทั้งส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมให้กับผู้เรียน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข

โรงเรียนให้ความสำคัญกับการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สะท้อนถึงปรัชญา “โรงเรียนธรรมชาติ” โดยใช้ธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นฐานการเรียนรู้ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ลึกซึ้งและเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของนักเรียน พื้นที่ของโรงเรียนถูกออกแบบให้เอื้อต่อการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง (Experiential Learning) เช่น การสำรวจธรรมชาติ การปลูกพืช การดูแลสัตว์ และการสร้างโครงการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน

ชุมชนในเขตอำเภอสิงหนครมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการจัดการศึกษา โรงเรียนได้พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมประเพณีท้องถิ่น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้คุณค่าของชุมชน พร้อมปลูกฝังความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองที่มีคุณธรรม

ด้วยพื้นที่และบริบทที่สนับสนุนการเรียนรู้ในทุกมิติ โรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะในด้านการคิดวิเคราะห์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น การจัดการตนเอง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน เป้าหมายสำคัญของโรงเรียนคือการสร้างนักเรียนให้เป็น “ผู้นำที่มีคุณธรรม” และ “ผู้ที่มอบความเมตตาต่อโลก” พร้อมทั้งส่งเสริมให้พวกเขาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในอนาคต

 

๑.๓.๒ บริบทชุมชนที่เชื่อมโยงกับการจัดการศึกษา

โรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์ ตั้งอยู่ในตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ โดยลักษณะเด่นของชุมชนและท้องถิ่นรอบโรงเรียนมีดังนี้:

ลักษณะภูมิประเทศ
         ชุมชนรอบโรงเรียนตั้งอยู่ระหว่าง ทะเลสาบสงขลา และ อ่าวไทย โดยมีปากอ่าวเป็นตัวเชื่อม ทำให้มีความหลากหลายทางธรรมชาติ ทั้งพื้นที่น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ลักษณะนี้เอื้อให้เกิดการเกษตรกรรม ประมง และการปศุสัตว์ที่มีความเฉพาะตัว เช่น การเลี้ยงปลากะพงในระบบน้ำสามน้ำ และการผลิตสินค้าเกษตรที่เป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ เช่น มะม่วงเบา

ทรัพยากรธรรมชาติ
         พื้นที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น พื้นที่ป่าชายเลน ทะเลสาบสงขลา และชายฝั่งทะเลที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการเรียนรู้ทางธรรมชาติ ทรัพยากรเหล่านี้ยังสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน เช่น การเกษตรกรรม ประมง และการแปรรูปสินค้าเกษตร

 

เศรษฐกิจชุมชน
เศรษฐกิจในชุมชนประกอบด้วยฐานเศรษฐกิจสำคัญ

  • การเกษตร เช่น การปลูกมะม่วงเบา ซึ่งเป็นสินค้า Gi (Geographical Indication) ที่สร้างชื่อเสียงให้กับท้องถิ่น

  • การประมง เช่น การเลี้ยงปลากะพงในทะเลสาบสงขลา ซึ่งสะท้อนความหลากหลายทางระบบนิเวศ

  • การปศุสัตว์ เช่น การผลิตเนื้อวัวและไข่ครอบที่ได้รับการรับรอง Gi ซึ่งสะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่น

  • อุตสาหกรรมปิโตรเลี่ยม ก่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชน มีบริษัททรัพพลายเออร์มากมายที่เกี่ยวข้อง

  • การท่องเที่ยวชุมชน ประวัติศาสตร์เมืองเก่า เรียนรู้มะม่วงเบา ล่องเรือป่าโกงกาง เยี่ยมเยือนกลุ่ม อนุรักษฟ์าร์มทะเลห้องเรียนปลาสามน้ำ

อำเภอสิงหนครเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจที่ได้รับการรับรองด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Gi) ใน ๓ ด้านสำคัญ ได้แก่:

  • มะม่วงเบา Gi: สัญลักษณ์ของคุณภาพในภาคการเกษตร

  • ปลากะพง Gi: ความหลากหลายในภาคการประมงและนิเวศสามน้ำ

  • ไข่ครอบ Gi: ตัวแทนของเอกลักษณ์ในภาคปศุสัตว์และวิถีชีวิต

 

วัฒนธรรมและสังคม
ชุมชนนี้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีทั้งชาวไทยพุทธ มุสลิม และจีน ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข มีการผสมผสานวัฒนธรรมที่หลากหลาย เช่น งานประเพณี วัฒนธรรมการทำอาหาร และกิจกรรมทางศาสนา

การเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และอารยธรรม
พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของ เมืองประวัติศาสตร์ซิงกอรา ที่เชื่อมโยงสู่ สงขลาเมืองเก่า ซึ่งกำลังผลักดันสู่การเป็นมรดกโลก รากเหง้าทางวัฒนธรรมนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

 

การเดินทางและสาธารณูปโภค
          การคมนาคมขนส่งในพื้นที่รอบโรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์ มีการคมนาคมสะดวกและหลากหลาย เช่น การใช้ แพขนานยนต์ เชื่อมระหว่างฝั่งเมืองสงขลากับหัวเขาแดง และ สะพานติณสูลานนท์ ที่ช่วยรองรับปริมาณการเดินทางทางถนน นอกจากนี้ การพัฒนาเส้นทางถนนและโครงสร้างพื้นฐานยังส่งเสริมการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชน ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายทั้งด้านการเรียนรู้และการพัฒนาชุมชน

สาธารณสุข

ในอำเภอสิงหนครมี โรงพยาบาลสิงหนคร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด ๑๐ เตียง เป็นหน่วยบริการด้านสุขภาพที่สำคัญ รวมถึง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสทิงหม้อ ซึ่งให้บริการด้านสุขภาพพื้นฐานแก่ประชาชนในพื้นที่

การนับถือศาสนา

ชุมชนรอบโรงเรียนสะท้อนถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม โดยประชากรในอำเภอสิงหนครนับถือ ศาสนาพุทธ ประมาณ ๗๖% และ ศาสนาอิสลาม รวมถึงศาสนาอื่น ๆ ประมาณ ๒๔% ความหลากหลายนี้ทำให้ชุมชนมีความกลมเกลียวและสนับสนุนซึ่งกันและกัน

การสนับสนุนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชุมชน
โรงเรียนส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน เช่น การเรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมง การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการพัฒนาทักษะด้านผู้ประกอบการจากการแปรรูปสินค้าเกษตร

บริบทของชุมชนและท้องถิ่นนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความหลากหลายและศักยภาพที่โดดเด่น แต่ยังเป็นฐานสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถปรับตัวและสร้างคุณค่าในบริบทสังคมที่หลากหลายได้อย่างยั่งยืน

 

๑.๓.๓ บริบทระดับจังหวัดสงขลา

จังหวัดสงขลาเป็นศูนย์กลางการศึกษาและเศรษฐกิจของภาคใต้ มีศักยภาพทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และระบบคมนาคมที่เชื่อมโยงทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศมาเลเซีย ด้วยความหลากหลายทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่โดดเด่น สงขลายังเป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภายใต้วิสัยทัศน์ "สงขลา เมืองแห่งการคิดค้น พัฒนานวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" จังหวัดมุ่งมั่นสร้างการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนในศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยพันธกิจที่ชัดเจน ได้แก่

  • การพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

  • การส่งเสริมการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน

  • การผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะและทักษะชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

  • การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้โดยเน้นกระบวนการวิทยาศาสตร์

  • การส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะตามจุดเน้นของเด็กสงขลา ได้แก่ "ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มีทักษะอาชีพ รักษ์ถิ่นฐาน แหลงใต้ เก่งภาษา เล่นกีฬาเป็น ๑ อย่าง"

วิสัยทัศน์และพันธกิจเหล่านี้สะท้อนถึงเป้าหมายในการสร้างผู้เรียนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณธรรม มีสมรรถนะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ และสามารถพัฒนาท้องถิ่นให้ก้าวหน้าสู่ความยั่งยืนในอนาคต

 

วิสัยทัศน์หลักสูตร

สร้างพลเมืองที่เข้มแข็งด้วยความมุ่งมั่น ให้ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรม ใฝ่เรียนรู้ รักความพอเพียง รักท้องถิ่น รักชาติบ้านเมือง สามารถเรียนรู้จนเกิดสมรรถนะเพื่อนำตนเองสู่การเป็นนวัตกรที่มีคุณธรรม สร้างงาน สร้างอาชีพ และอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสร้างสรรค์

เป้าหมายหลัก

  1. ผู้เรียนมีคุณธรรม คุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ

  2. การสร้างพลเมืองรุ่นใหม่ที่เข้มแข็งในยุคของการเปลี่ยนแปลง

  3. ผู้เรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ รู้ทันโลก ก้าวทันเทคโนโลยีดิจิทัล และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สามารถช่วยเหลือตนเองและสังคมได้อย่างมีความสุข

  4. เยาวชนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและเสมอภาค

  5. การส่งเสริมการใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นและสนับสนุนทรัพยากร

  6. และนวัตกรรมการจัดเรียนรู้เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาส่งผลให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะ

  7. พัฒนานวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย

 

เป้าหมายและวิสัยทัศน์หลักสูตร

 นี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาผู้เรียนที่มีคุณธรรมและความสามารถรอบด้าน โดยเน้นการเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์การศึกษาจังหวัดสงขลา “สงขลา เมืองแห่งการคิดค้น พัฒนานวัตกรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งกำหนดแนวทางการพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำ และการเตรียมความพร้อมผู้เรียนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ และยังตอบสนองพันธกิจ ๕ ด้านของการศึกษาจังหวัดสงขลา  ยังสนับสนุนการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถเชื่อมโยงความรู้และทักษะเข้ากับบริบทท้องถิ่น เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ การส่งเสริมอัตลักษณ์ของชุมชน และการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน

 

๑.๓.๔ บริบทระดับประเทศ/ชาติ และโลก

ระดับประเทศ/ชาติ

          ประเทศไทยกำลังมุ่งพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ โดยมุ่งเน้นการสร้างสมรรถนะผู้เรียนผ่าน หลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-Based Curriculum) ที่พัฒนาทักษะสำคัญ เช่น    การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การสร้างนวัตกรรม และการเรียนรู้ตลอดชีวิต นโยบายปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทและพื้นที่พิเศษ

พร้อมกับส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงผู้เรียนกับบริบทท้องถิ่น

การดำเนินการดังกล่าวไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ แต่ยังปลูกฝังคุณค่าของการเรียนรู้ที่สะท้อนเอกลักษณ์และความหลากหลายของชุมชนไทย ทั้งยังสนับสนุนให้การศึกษากลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างสังคมที่มีความยั่งยืน

บริบทระดับโลก

การศึกษาระดับโลกมุ่งเน้นการสร้างพลเมืองโลก (Global Citizenship) ที่สามารถอยู่ร่วมกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาหลักสูตรเน้นการเตรียมผู้เรียนให้มีทักษะที่สำคัญในศตวรรษที่ ๒๑ เช่น การคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้ร่วมกัน การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม และการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่เน้นการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม

ในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-Based Economy)  การศึกษาไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการเพิ่มพูนความรู้ในเชิงวิชาการ แต่ยังมุ่งเตรียมผู้เรียนให้มีความสามารถในการปรับตัวในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองที่มีจิตสำนึกในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานและการเรียนรู้ในอนาคต ผู้เรียนจึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะสำคัญ เช่น การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร และการทำงานร่วมกันในระดับนานาชาติ เพื่อให้สามารถแข่งขันและดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืนในสังคมโลกที่เชื่อมโยงถึงกัน

 

การเชื่อมโยงหลักสูตรโรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์

หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์ได้รับการออกแบบโดยเชื่อมโยงบริบทระดับท้องถิ่น ประเทศ และโลก เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ พร้อมทั้งปลูกฝังจิตสำนึกในคุณค่าท้องถิ่นและความรับผิดชอบในระดับสากล

โรงเรียนใช้ทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญา และการอนุรักษ์ระบบนิเวศน้ำสามน้ำในทะเลสาบสงขลา เป็นฐานการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจรากเหง้าของชุมชนและบทบาทของตนในการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม

ในด้านการพัฒนาสมรรถนะสากล หลักสูตรเน้นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ ๒๑ เช่น การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การสร้างนวัตกรรม และการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม ผ่านการใช้เทคโนโลยีและการเรียนรู้แบบบูรณาการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผู้เรียนจะได้รับการบ่มเพาะคุณธรรมและจริยธรรมตามหลักศาสนาที่ตนยึดถือ พร้อมทั้งพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมในสังคมพหุวัฒนธรรม หลักสูตรนี้จึงสะท้อนถึงการบูรณาการความเป็นท้องถิ่นและความเป็นสากล เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณธรรม สมรรถนะ และความพร้อมต่อการเผชิญความเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคตอย่างยั่งยืน

 

 

๑.๔ กระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะโรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์

โรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์มุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ โดยผสมผสานบริบทระดับท้องถิ่น ประเทศ และโลก เพื่อส่งเสริมผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม และสมรรถนะที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ กระบวนการจัดทำหลักสูตรมีขั้นตอนดังนี้

 

๑. การวิเคราะห์บริบทและความต้องการ

๑.๑ สำรวจทรัพยากรท้องถิ่น ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น

๑.๒ ศึกษาความต้องการ รวบรวมข้อมูลจากชุมชน ผู้ปกครอง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อกำหนดทิศทางการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้เรียน
๑.๓ วิเคราะห์แนวโน้มระดับชาติและโลก นำเป้าหมาย SDGs และทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ เช่น การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการสร้างนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้

๒. การมีส่วนร่วมและการประชุมเชิงปฏิบัติการ

๒.๑ ประชุมร่วม จัดการประชุมระหว่างครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง และตัวแทนชุมชน เพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางของหลักสูตร
๒.๒ เชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ จัดอบรมความรู้เรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะให้แก่บุคลากร

๓. การพัฒนาบุคลากร

๓.๑ อบรมผู้บริหารและครู เพื่อให้เข้าใจปรัชญา วิสัยทัศน์ และสมรรถนะหลักของโรงเรียน
๓.๒ เสริมสร้างบทบาทครู ให้ครูเป็น Learning Designer และ Learning Facilitator เพื่อออกแบบและส่งเสริมการเรียนรู้
๓.๓ พัฒนาการนิเทศและ PLC ใช้ Classroom Reflection to Change (CRC) และสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

๔. การออกแบบหลักสูตร

๔.๑ สร้างโครงสร้างหลักสูตร กำหนดเกณฑ์สมรรถนะการเรียนรู้ เช่น VASK (คุณค่า เจตคติ ทักษะ ความรู้)
๔.๒ ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ เชื่อมโยงกับบริบทท้องถิ่น เช่น การศึกษาเกี่ยวกับระบบน้ำสามน้ำในทะเลสาบสงขลา
๔.๓ พัฒนาการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการสร้างสรรค์นวัตกรรม

๕. การพัฒนาระบบการประเมินผล

๕.๑ การประเมินสมรรถนะ ใช้ทั้ง Formative Assessment และ Summative Assessment เพื่อสะท้อนผลลัพธ์การเรียนรู้
๕.๒ ออกแบบเกณฑ์การวัดผล ใช้โครงงาน กิจกรรมกลุ่ม และการแสดงผลงานเป็นเกณฑ์การประเมิน

๖. การทดลองและปรับปรุงหลักสูตร

๖.๑ นำหลักสูตรไปทดลองใช้ ทดลองใช้หลักสูตรในชั้นเรียนและเก็บข้อมูลผลการเรียนรู้
๖.๒ ปรับปรุงหลักสูตร ปรับปรุงให้เหมาะสมกับพัฒนาการของผู้เรียนและบริบทพื้นที่

๗. การติดตามและพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง

๗.๑ ติดตามผล ติดตามการจัดการเรียนการสอนและผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
๗.๒ ใช้ข้อมูลเพื่อปรับปรุง ปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้และหลักสูตรเพื่อความยั่งยืน

กระบวนการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะของโรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วน การเชื่อมโยงบริบทท้องถิ่นกับแนวโน้มระดับโลก และการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างผู้เรียนที่มีสมรรถนะ คุณธรรม และความพร้อมในการเผชิญความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่อย่างยั่งยืน.

โรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์

สังกัด สำนักงานการศึกษาเอกชน จังหวัดสงขลา

271/8 หมู่1 ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา 90280 

logo 022.png
bottom of page